คณะการท่องเที่ยวฯ DPU แนะการเรียนรู้ยุค New normal เปิดพื้นที่ผู้เรียนสร้าง Passion พัฒนาต่อยอดสู่ Lifelong learning

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU แนะการเรียนรู้ยุค New normal เปิดพื้นที่ผู้เรียนสร้าง Passion พัฒนาต่อยอดสู่ Lifelong learning

คณะการท่องเที่ยวฯ DPU แนะการเรียนรู้ยุค New normal เปิดพื้นที่ผู้เรียนสร้าง Passion พัฒนาต่อยอดสู่ Lifelong learning

ลักษณะการเรียนรู้ในยุค New normal หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เป็นการเรียนการสอนออนไลน์  แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่การเรียนการสอนออนไลน์อย่างที่หลายคนเข้าใจเท่านั้น แต่เป็นลักษณะการเรียนรู้ที่มี Platform และวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย มุ่งเน้นการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถของตนเองอย่างสูงสุดในการเรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวม

ทั้งนี้ คำว่า พื้นที่การเรียนรู้ (Learning space) นั้นหมายถึง โอกาสที่ผู้เรียนได้รับจากผู้สอนในการกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ การออกแบบและใช้วิธีการเรียนรู้ เพื่อประเมิน ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ตลอดจนโอกาสที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปทำประโยชน์ต่อส่วนรวมเพื่อสะท้อนความคิดกลับมายังตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่ตนเองควรจะเรียนรู้ต่อไปเพื่อกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ใหม่ด้วยตนเองอีกครั้ง แล้วลงมือเรียนรู้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การเรียนรู้เชิงลึกหรือที่เรียกว่ารู้จริง รู้ชัด จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้สอนไม่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

สำหรับการเรียนรู้ที่สาขาการท่องเที่ยว คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)   ในยุค New normal นั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัลยา สว่างคง อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาโท สาขาการจัดการการท่องเที่ยว  ได้อธิบายว่า นอกเหนือจากการเรียนการสอนแบบออนไลน์แล้ว ที่นี่ยังเน้นการเรียนรู้ที่สร้างให้ผู้เรียนมี Passion ในการเรียน มีความใคร่รู้ และต้องการประสบความสำเร็จผ่านช่องทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ภายใต้การเอาใจใส่และการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้สอน ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เชิงลึกและเห็นคุณค่าที่แท้จริงของการเรียนรู้ ผู้สอนทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของผู้เรียนและการมีส่วนรวมรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเดี่ยวเพื่อเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้เฉพาะด้านที่สนใจ การทำงานกลุ่มผ่าน Platform ต่างๆ ทั้งกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันเอง และทำงานร่วมกับชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและอาชีพ การเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนในรูปแบบต่างๆ การนำเสนองานทั้งต่อผู้สอน และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงผู้ประกอบการภายนอกเพื่อต่อยอดทักษะสารสนเทศ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

รวมทั้งยังมีการวางเครือข่ายสำหรับการทำงานในอนาคตให้กับผู้เรียน และที่สำคัญการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่มิได้ใช้เพียงข้อสอบเท่านั้น หากแต่ยังวัดจากตัวกิจกรรมที่ผู้เรียนได้ลงมือทำเอง และเป็นการให้คะแนนที่มีสัดส่วนทั้งจากผู้สอน เพื่อนร่วมชั้นเรียน ชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ประกอบการจากภายนอก เพื่อเป็นเครื่องมือที่บ่งชี้ความสำเร็จและคุณภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง

การที่ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และได้ทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดการเรียนรู้และสะท้อนกลับผลของการเรียนรู้นั้นมาพัฒนาตัวเองต่อไป เกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด หรือที่เรียกว่า “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong learning) ที่นับเป็นแนวคิดที่องค์กรยุคใหม่ต้องการอย่างยิ่ง

ผศ.ดร. กัลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมาจากหลากหลายวิขา เช่น  วิชาการวางแผนและจัดรายการนำเที่ยว มรดกและวัฒนธรรมไทยเพื่อการนำเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาจุดหมายปลายทางทางการท่องเที่ยว และอื่นๆ ที่แต่ละรายวิชาได้ให้อิสระกับผู้เรียนในการค้นคว้าเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวที่ตัวเองสนใจ และถึงแม้จะมีโอกาสพบกันในชั้นเรียนน้อยลง แต่ก็ยังสามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน ชุมชน หรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องผ่าน application ต่างๆ ได้ โดยยังสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ วิธีการบริหารจัดการ รูปแบบรายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งจากการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ชุมชน และองค์กรต่างๆ ที่หลากหลาย

ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการนำความรู้จากรายวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาปรับใช้แล้ว ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และทักษะความสามารถในการเข้าสังคม การสื่อสาร การแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ การริเริ่มสิ่งใหม่ การใส่ใจนวัตกรรม และอื่นๆ ที่ล้วนเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงาน ถึงแม้ผู้เรียนหลายคนจะไม่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแต่ทักษะแหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะฝังอยู่ในตัวของผู้เรียนและสามารถนำมาใช้ในการทำงานในอนาคตได้

ดังนั้น การออกแบบการเรียนรู้ในยุค New Normal จึงไม่ใช่เพียงการสอนออนไลน์อย่างที่เข้าใจกันเท่านั้น แต่ New Normal ที่แท้จริงคือ “คุณภาพของการเรียนรู้” ที่จะคงฝังอยู่ในตัวผู้เรียนตลอดไป

 

ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ