มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบ”สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” เสริมความปลอดภัยคนข้ามถนน

มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบ”สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” เสริมความปลอดภัยคนข้ามถนน

นักวิจัย มทร.ศรีวิชัย ส่งมอบ”สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” โครงการนำร่อง “ระบบจราจรอัจฉริยะ สำหรับเมืองสงขลาน่าอยู่” เสริมความปลอดภัยคนข้ามถนน จากเสียงความความต้องการของนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และชุมชนเทศบาลนครสงขลา

รศ. จรูญ เจริญเนตรกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการแผน งานวิจัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ หัวหน้าโครงการวิจัย ดร.สหพงศ์ สมวงค์ ผู้ร่วมวิจัย ร่วมส่งมอบ “สัญญาณจราจรทางข้ามอัตโนมัติ” งานวิจัยโครงการย่อยที่ 3 “ระบบจราจรอัจฉริยะ สำหรับเมืองสงขลาเมืองสงขลาน่าอยู่” ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพพื้นที่เมืองและโครงสร้างพื้นฐานรองรับยุทธศาสตร์เมืองอัจฉริยะของเทศบาลนครสงขลา โดยมี นายศรัญ บิลพัฒน์ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายพิษณุ เจริญเนตรกุล ผู้อำนวยการกองช่าง นายสมพงษ์ ช่วยเนียม ผู้จัดการโรงเรียนแจ้งวิทยา และตัวแทนประชาชนร่วมเป็นผู้รับมอบ ณ บริเวณหน้าโรงเรียนแจ้งวิทยา

รศ.จรูญ เจริญเนตรกุล ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย กล่าวว่า โครงการ ฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนปี 2563 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ บพท. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาลนครสงขลา และประชาชนจากชุมชนเขตเทศบาลฯ ในการดำเนินโครงการทุกระยะ

ผศ.ดร.ชลัท ทิพากรเกียรติ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มาของโครงการนำร่องว่า เกิดจากกระบวนการความร่วมมือ 3 ส่วน คือ ภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคประชาชน ทำให้คณะวิจัยสามารถคัดเลือกโครงการนำร่องที่เหมาะสมกับทรัพยากร เกิดเป็นโครงการระบบสัญญาณทางข้ามอัตโนมัติ หลังจากนั้นเราได้ลงพื้นที่สำรวจปริมาณคนข้ามถนนทั้งหมดในเขตเทศบาลฯ ทำให้พบว่าทางข้ามหน้าโรงเรียนแจ้งวิทยามีคนข้ามมากที่สุดถึง 800 คน ต่อชั่วโมง รวมถึงการใช้หลักวิศวกรรมจราจรและระบบแผนที่ GIS มาใช้วิเคราะห์หาความเหมาะสมของพื้นที่ อีกทั้งยังได้ลงพื้นที่ขอความคิดเห็นของนักเรียน บุคลากรในโรงเรียนและประชาชนที่ข้ามถนนบริเวณดังกล่าว ซึ่งพบว่าทั้งหมดมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยขณะเดินข้ามถนน และมีความต้องการให้ติดตั้งระบบบสัญญาณไฟดังกล่าว

สำหรับการใช้งานมีด้วยกัน 2 วิธี ซึ่งสะดวกและง่ายมาก โดยวิธีแรกคือการยืนรอข้ามถนนในระยะเซนเซอร์ตรวจจับ 2 วินาที หรือวิธีที่สองให้กดปุ่มสัมผัสที่อยู่บริเวณตัวเสา 1 วินาที เมื่อตรวจจับเจอสัญญาณคนรอข้ามแล้ว เสียงแจ้งเตือนสำหรับคนข้ามจะทำงานอัตโนมัติ และส่งสัญญาณไปยังป้ายไฟกระพริบแจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้ชะลอหรือ หยุดรถเพื่อสร้างความสะดวกและปลอดภัยให้กับคนข้ามมากขึ้น

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงผลลัพธ์ของงานวิจัยปิดท้ายว่า เราต้องการให้เมืองมีความสะดวก ปลอดภัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงแนวทางสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรและขนส่ง เพื่อสามารถรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของเมือง สนับสนุนการท่องเที่ยวและกิจกรรมในเมือง และมองไปถึงการขยายต่อยอดโครงการไปยังเมืองซึ่งมีบริบทพื้นที่คล้ายกันในอนาคตอีกด้วย

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ