พ่อแม่ ผู้ปกครอง : ปัจจัยสู่ความสำเร็จการเรียนออนไลน์ของเด็กในช่วงโควิด-19

พ่อแม่ ผู้ปกครอง : ปัจจัยสู่ความสำเร็จการเรียนออนไลน์ของเด็กในช่วงโควิด-19

ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 สร้างปัญหาและความยุ่งยากให้กับการศึกษาไทยไม่น้อย แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับแวดวงการศึกษาได้ไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้น ก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษาไทยมากขึ้น ในภาวะที่ประเทศเกิดปัญหา สถานศึกษาถูกปิด เกิดผลกระทบชัดเจนต่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นวงกว้าง และกินเวลายาวนาน

การเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือ “เรียนออนไลน์” จึงถูกนำมาใช้เพื่อการตอบโจทย์การเรียนรู้ในปัจจุบัน ถือเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ที่เกิดขึ้นในการศึกษาของเด็กในยุคปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าเด็กทุกคนจะสามารถเรียนออนไลน์ได้ทั้งหมด มีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนออนไลน์ของเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กเล็กในช่วงปฐมวัย (อายุ 2-6 ปี) ที่ต้องการทั้งพัฒนาการในด้านร่างกายและสติปัญญา แต่กลับต้องก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเรียนออนไลน์อาจเป็นเรื่องกระทันหันสำหรับบางคน ทำให้เราเตรียมการได้ไม่ดีพอ ด้วยความไม่พร้อมอาจส่งผลกระทบตามมากับคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ถือเป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการสำรวจพบว่า จะมีครูกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวได้ สามารถออกแบบการเรียนการสอน กิจกรรมให้เหมาะกับวัยและผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพราะบางวัยเรียนรู้ผ่านการเล่น บางวัยเรียนรู้ผ่านการคิดวิเคราะห์ และกลุ่มเพื่อน แต่ครูอีกส่วนหนึ่งยังใช้การสอนรูปแบบเดิมๆ ตามแผนการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้ว เพียงแค่อัดเป็นคลิปการสอนไปเรื่อยๆ หรือสอนตามเนื้อหาที่มีอยู่เดิม ทำให้ผลกระทบไปตกอยู่กับ เด็ก พ่อแม่ และผู้ปกครอง อย่างชัดเจน เพราะการสอนที่ไม่น่าสนใจ ไม่มีเพื่อน ไม่มีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มาช่วยกระตุ้น ทำให้เด็กไม่เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ทั้งยังส่งผลข้างเคียงให้กับเด็กได้อีกด้วย เมื่อต้องอยู่ในคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เช่น มีอาการอ่อนล้า เฉื่อยชา มีปัญหาเรื่องสายตา มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรืออาจจะมีปัญหาด้านกระดูกจากการขาดวิตามิน D เป็นต้น

สำหรับ เด็กในช่วงอายุ 2-6 ปี น่าจะเป็นช่วงที่เปราะบางและพบปัญหาเยอะที่สุด ปกติเด็กกลุ่มนี้จะมีหลักสูตรปฐมวัย ใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ให้ครอบคลุมสาระการเรียนรู้ โดยเน้น กิจกรรม 6 หลัก ได้แก่ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสรี และกิจกรรมเกมการศึกษา ซึ่งจะมีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ แต่พอเป็นการเรียนออนไลน์ ครูไม่สามารถให้เด็กทำกิจกรรมบางอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ได้ หรือแม้แต่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ร่วมกับเด็กได้ทุกวัน ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็ก และครู ต้องมีการปรับตัวร่วมกัน

โดยประเด็นหลักๆ ก็จะอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก ที่ต้องใช้เวลาร่วมกันในการเรียนรู้ ถึงแม้คลิปการสอนจะเป็นคลิปสั้นๆ แต่ถ้าไม่มีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยสอน ช่วยแนะนำ กระบวนการเรียนรู้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก จำเป็นต้องจัดตารางเวลา ให้มีเวลาศึกษาร่วมกัน ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะประสบผลสำเร็จในการเรียนของเด็กวัยนี้ ถ้าหากขาดตรงนี้ไปกระบวนการเรียนรู้ก็แทบจะไม่เกิดขึ้น

ที่มา: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ