“ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช” คณะวิศวฯ จุฬาฯ  พัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

“ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช” คณะวิศวฯ จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

“ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ตั้งอยู่ที่ชั้น 10 อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 หรือ C2F มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง สร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับประเทศไทยและต่างประเทศ” รศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงศูนย์วิจัยแห่งใหม่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเปิดตัวศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา

ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering Research Center) หรือ BMERC ได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการยกระดับพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและโลกในศตวรรษใหม่ ศูนย์วิจัยแห่งนี้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของหลากหลายศาสตร์ ประกอบด้วย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมว่าจุฬาฯ มีผลงานวิจัยที่โดดเด่น พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ในการทำ Lab ห้องปฏิบัติการด้านชีวภาพที่มีการเพาะเลี้ยงเซล อุปกรณ์ทางการแพทย์และคอมพิวเตอร์ที่ครบครันทุกสาขา เป็นศูนย์กลางสำหรับนิสิตและคณาจารย์จากคณะต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับการแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ได้มีพื้นที่ในการทำงานร่วมกัน

ทำความรู้จักศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช
รศ.ดร.จุฑามาศเปิดเผยว่า ก่อนที่จะเป็นศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชหรือ BMERC คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวชที่มีบทบาทชัดเจนด้านการเรียนการสอนนิสิตระดับบัณฑิตศึกษา และมีผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการแพทย์อยู่แล้ว เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชจึงมีการขยายบทบาทของหลักสูตรโดยเพิ่มเติมพื้นที่สำหรับนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาในการทำโครงการวิจัย วิทยานิพนธ์ และพัฒนานวัตกรรม คณาจารย์ก็จะใช้ศูนย์วิจัยนี้เป็นพื้นที่พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือต่อยอดนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

ความพิเศษของศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช
หลากหลายผลงานนวัตกรรมจากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวชที่คณาจารย์และนิสิต ได้พัฒนาขึ้นในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้ตอบสนองความต้องการของสังคมและวงการแพทย์ ถือเป็นจุดเด่นที่ศูนย์วิจัยฯ จะเดินหน้าดำเนินการต่อไป ที่ผ่านมามีคณาจารย์หลายท่านในหลักสูตรได้รับทุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รวมถึงทุนจากต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนิสิต เพื่อพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่ประจักษ์มากยิ่งขึ้น

“ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชมีบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้ที่พบเจอปัญหาทางคลินิกจริงๆ มาร่วมพัฒนางานวิจัยในหลายโครงการ ดังนั้นนวัตกรรมที่เราพัฒนาขึ้นนั้นเริ่มจากโจทย์ที่มีอยู่จริง เป็นงานวิจัยและนวัตกรรมที่ไม่ได้พัฒนาเพื่อขึ้นหิ้ง แต่มีผู้ใช้งานอย่างแน่นอน ยิ่งเป็นงานวิจัยและนวัตกรรมสำหรับวงการแพทย์ก็ยิ่งเป็นประโยชน์มากขึ้น ในการสร้างงานนวัตกรรมถ้าสำเร็จตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ ก็จะทำให้ได้วิธีการรักษาโรคและการตรวจวินิจฉัยโรคแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น” รศ.ดร.จุฑามาศกล่าว

นวัตกรรมส่งเสริม Spin off Research University
รศ.ดร.จุฑามาศกล่าวเสริมว่าการก่อตั้งศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชได้รับการสนับสนุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 หรือ C2F โครงการที่ได้รับทุนมี 4 โครงการ ซึ่งเป็นของบริษัท Spin-off ภายใต้การบ่มเพาะของ CU Innovation Hub การทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยฯ และบริษัท Spin-off เป็นไปในลักษณะเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยศูนย์ฯ เอื้อเฟื้อในเรื่องของสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำวิจัย ในทางกลับกัน ศูนย์ฯ ก็ได้ประโยชน์จาก Spin-off ที่สร้างผลงานนวัตกรรมด้วย

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทเมติคูลี่ หนึ่งในบริษัท Spin-off ของ จุฬาฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนถึงความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยฯ กับบริษัท Spin-off ซึ่งในอนาคตก็จะมี Spin-off เกิดขึ้นอีกหลายบริษัท จะทำให้ศูนย์วิจัยฯ นำรายได้จาก Spin-off มาสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานของศูนย์วิจัยฯ ต่อไป

ตัวอย่างนวัตกรรมของศูนย์วิจัยฯ ที่นำไปใช้ได้จริง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชได้พัฒนาหลากหลายผลงานนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นรถกองหนุน ซึ่งเป็นผลงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เป็นรถพระราชทาน ที่นำไปต่อยอดในการใช้งานจริงโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครื่องดึงวัคซีน AstraZeneca อัตโนมัติ เครื่องรังสียูวีสำหรับฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัย N95 ที่มีการใช้งานซ้ำ

นอกเหนือจากนี้ ยังมีผลงานการพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ เช่น อวัยวะเทียม แขนขาเทียม เท้าเทียม สะโพกเทียม สำหรับผู้พิการที่สูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการพึ่งพาอวัยวะจากต่างประเทศอาจไม่เหมาะกับสรีระของคนไทย ที่สำคัญคือราคาที่สูง การพัฒนารูปแบบนำทางเข็มฉีดสารในร่างกายลดความเจ็บปวดแทนเข็มฉีดยา โครงการกระดูกเทียมจากไหมไทย โดยการนำโปรตีนจากไหมไทยที่สกัดมาทำกระดูกเทียมเพื่อช่วยกระตุ้นการงอกของกระดูก นวัตกรรม 3D Printing Titanium Bone เพื่อปลูกถ่าย ซ่อมแซมกระดูกที่เสียหาย ซึ่งมีการนำไปใช้จริงในผู้ป่วยแล้ว

“แนวทางการพัฒนาศูนย์วิจัยฯ ในอนาคต จะเน้นในเรื่องการสร้างความร่วมมือ เป็นหลัก นอกจากการเชื่อมโยงอาจารย์จากสหสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว แผนงานที่วางไว้จะมีการขยายความร่วมมือออกไปนอก จุฬาฯ โดยสร้างความร่วมมือในการทำโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่ทำงานทางด้านการแพทย์ หรือให้ทุนเพื่อพัฒนาการวิจัย โดยมีเป้าหมายให้ศูนย์วิจัยเป็น Medical Hub เพื่อสร้างความร่วมมือพัฒนางานนวัตกรรมทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม” รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าวในที่สุด

สำหรับหน่วยงานที่สนใจนวัตกรรมหรือต้องการร่วมมือพัฒนานวัตกรรมกับศูนย์วิศวกรรม ชีวเวช สามารถติดต่อได้ที่โทร. 0-2218-6793-13 หรือ Inbox มาที่ Facebook หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช https://m.facebook.com/chulabme/

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ