ม.มหิดล น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ช่วยเกษตรกร พลิกฟื้นผืนดิน “บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี” ด้วย”หญ้าแฝก”

ม.มหิดล น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ช่วยเกษตรกร พลิกฟื้นผืนดิน “บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี” ด้วย”หญ้าแฝก”

ด้วย “ศาสตร์พระราชา” ได้พิสูจน์แล้วว่า “หญ้าแฝก” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียง “วัชพืชไร้ค่า” สามารถนำมาพลิกฟื้น “ดินเสื่อม” ให้เป็น “ดินอุดมสมบูรณ์” ได้อย่างไร แม้ผืนดินที่มี”ชั้นหินลูกรัง” ก็ยังสามารถ “ฝังรากหยั่งลึก” โอบอุ้ม”ความชุ่มชื้น” ให้เกษตรกรได้ชุ่มชื่นหัวใจกับผลผลิตทางการเกษตรที่งดงาม จากแผ่นดินที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ได้ด้วยหญ้าที่สร้างคุณเอนกอนันต์ให้กับแผ่นดินนี้

เช่นเดียวกับโจทย์ที่ท้าทาย ณ บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยคจ.กาญจนบุรี ที่แม้จะมีผืนดิน “ชั้นหินปูน” ที่ยากต่อการเพาะปลูกเพียงใด ก็สามารถจัดการให้เกิดความสมดุลได้ด้วยหญ้าแฝก

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิทยาเขตกาญจนบุรี ด้านบริการสังคมและชุมชนสัมพันธ์ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีสามารถคว้าทุนอุดหนุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีงบประมาณ 2565 จากการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชามาใช้พลิกฟื้น “ดินเสื่อม” แห่งบ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ให้เป็น “ดินอุดมสมบูรณ์”

บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักท่องเที่ยวผู้รักในความสวยงามตามธรรมชาติของพื้นที่ซึ่งได้รับขนานนามว่า “ปางอุ๋งไทรโยค”

แต่น้อยคนที่จะทราบว่าพื้นที่แห่งนี้มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก ด้วยเหตุพื้นที่มีความลาดชัน และเต็มไปด้วยชั้นหินปูนและขาดอินทรีย์วัตถุ จึงทำให้ทำการเกษตรไม่ได้ผลดี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดกาญจนบุรี (Agritech and Innovation Center ; AIC) ได้นำทีมสหสาขาวิชาจากศูนย์ฯ ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ให้ได้มี “ดินดำน้ำชุ่ม” ที่สามารถใช้เพาะปลูกได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลานจากการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรวิถีใหม่ (Smart Farmers) ซึ่งมาจากคนในชุมชน ได้ทดลองปลูกหญ้าแฝกที่ “เห็นผลได้โดยไม่ต้องรับความเสี่ยง” จากแปลงทดลองต้นแบบ

โดยการทดลองปลูกสับปะรดใน 5 แปลงที่ใช้วิธีการที่แตกต่างกัน ทั้งด้วยวิธีการปลูกแบบเดิม และปลูกพร้อมพืชคลุมดินชนิดต่างๆ เพื่อเปรียบเทียบกัน พบว่าแปลงที่ใช้วิธีการปลูกพร้อมหญ้าแฝก และบำรุงด้วยปุ๋ยจากน้ำหมักชีวภาพให้ผลดีกว่าการปลูกด้วยวิธีอื่นๆ

โดยวิธีการปลูกแบบเดิม ต้องใช้ทั้งทุนและแรงงานมากกว่าเนื่องจากดินเดิมมีอินทรีย์วัตถุน้อย ต้องใช้ปุ๋ยมาก และอยู่เพียงผิวดิน พร้อมที่จะถูกชะล้างไหลออกนอกแปลงซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันได้ทุกเมื่อที่มีฝนตก ในขณะที่แปลงเป้าหมายใช้หญ้าแฝกคอยโอบอุ้มรักษาความชุ่มชื้น และความสมดุลให้ชั้นหน้าดิน จึงใช้ทุนและแรงงานที่น้อยกว่า พร้อมทั้งรากของหญ้าแฝกยังช่วยเก็บกักธาตุอาหารลงใต้ดินได้

ด้วยความภาคภูมิใจในความเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช สังข์อยุทธ์ และศูนย์ AIC จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมตั้งมั่นในปณิธานฯ เป็นกำลังสำคัญเพื่อชุมชน โดยคาดหวังให้มีเกษตรกรวิถีใหม่ (Smart Farmers) ที่ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันจากศูนย์ฯ ไปสานต่อ

จากการทำงาน พร้อมเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการ และเกษตรกรของชุมชน โดยใช้ศาสตร์พระราชาเป็นตัวขับเคลื่อน ภายใต้หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถวัดผลและควบคุมคุณภาพการผลิตได้จากห้องปฏิบัติการ โดยมีศูนย์ AIC คอยดูแลอย่างครบวงจร ด้วยมาตรการประกันราคา ซึ่งจะคืนเงินลงทุนสาธิตให้เกษตรกรในทันทีที่ได้ผลผลิตออกมาดี แนวทางการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความลุ่มลึก รอบด้าน มองการณ์ไกล และเน้นความยั่งยืนยาวนาน

องค์ประกอบของศาสตร์พระราชา คือ การศึกษาและสุขภาพการเพิ่มผลิตภาพการผลิต การค้นคว้าวิจัย การบริหารความเสี่ยง การอนุรักษ์ธรรมชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่ละองค์ประกอบล้วนมีส่วนช่วย ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกผู้ทุกคน โดยเฉพาะคนจนผู้ยากไร้

เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตาม SDGs องค์การสหประชาชาติ ข้อ 15 ที่ว่าด้วย “Life On Land” เพื่อให้พื้นที่บ้านสามัคคีธรรม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งคน ป่า และชุมชนอยู่ร่วมกันโดยผาสุกพร้อมเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ได้ต่อไป.

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ