ม.มหิดล ร่วมวิจัยทีมแพทย์ไทยและอเมริกัน ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลปลูกถ่ายไต ได้ตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับโลก

ม.มหิดล ร่วมวิจัยทีมแพทย์ไทยและอเมริกัน ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลปลูกถ่ายไต ได้ตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับโลก

“ความหวัง” คือ สิ่งเดียวที่คอยยึดเหนี่ยวให้ผู้ป่วยโรคไตที่กำลังรอรับการบริจาคเกิดแรงศรัทธาพร้อมสู้หายใจต่อไป แม้ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าผลการปลูกถ่ายไตจะเป็นเช่นไร

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวไกลทางด้านการปลูกถ่ายไต นอกจากจะทำให้ผู้ป่วย โรคไตวายระยะสุดท้ายได้รับการรักษาที่ดีที่สุดแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังช่วยทำนายผลการปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยและญาติได้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไตได้ต่อไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์อายุรแพทย์โรคติดเชื้อจากสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยปลูกถ่ายไต (Use of Machine Learning Consensus Clustering  to Identify Distant Subtypes of Black Kidney Transplant Recipients and Associated Outcomes)

จากที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมแพทย์ชาวไทยและอเมริกันที่มากด้วยประสบการณ์ ณ สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับโลก JAMA SURGERY ซึ่งเป็นTop 1% ของโลก ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ที่บุคลากรระดับอาจารย์แพทย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล สามารถสร้างชื่อเสียงจากการวิจัยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “Machine Learning” จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ของผู้ป่วยโรคไตที่เข้ารับการปลูกถ่ายไต

จากการได้มีโอกาสร่วมวิจัยกับทีมผู้วิจัย ณ สหรัฐอเมริกาในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชรัตทองประยูร และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิสิทธิ์ จึงประสิทธิ์พร อายุรแพทย์โรคไต เมโยคลินิก สหรัฐอเมริกาเป็นหัวหน้าโครงการ

โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์  และทีมวิจัย ได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จัดการข้อมูลผู้ป่วยโรคไต พบว่า การปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคไตที่ยังมีชีวิตอย่างทันท่วงที ให้ผลลัพธ์ของการทำงานต่อไตที่ปลูกถ่ายและการรอดชีวิตที่ยืนยาวกว่าการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ในผู้ป่วยโรคไตที่มีโรคประจำตัว

สาเหตุสำคัญเนื่องจากโดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่จำเป็นต้องเข้ารับการฟอกเลือด หรือล้างไตทางหน้าท้องเป็นประจำ มักไม่แข็งแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตการปลูกถ่ายไตในผู้ป่วยดังกล่าวจะเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมถึงการรอดชีวิตที่ดีกว่า

ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า ไตที่ได้รับจากผู้บริจาคที่ยังคงมีชีวิตอยู่ย่อมมีสภาพที่สมบูรณ์กว่า

แม้ผลการวิจัยจะมาจากฐานข้อมูลของผู้ป่วยปลูกถ่ายไตชาวอเมริกัน แต่เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับผู้ป่วยโรคไตชาวไทยได้เป็นอย่างดี โดยอาจนำข้อมูลจากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตจาก ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กว่า 2,000 ราย ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในรอบกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา

แม้ไม่อาจล่วงรู้ล่วงหน้าได้แน่นอน 100% ว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตจะมีผลลัพธ์ในการรักษาอย่างไรภายหลังได้รับการปลูกถ่ายไต

มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเป็นกำลังใจ และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลทุกท่านสามารถเอาชนะ “ขีดจำกัด” ในการค้นคว้าหาองค์ความรู้ใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติให้ได้มากที่สุด ผ่านการทำงานวิจัยที่ทุ่มเทของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่เปี่ยมล้นด้วยคุณภาพต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ