จุฬาฯ มอบรางวัล ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022 แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565

จุฬาฯ มอบรางวัล ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022 แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565

จุฬาฯ มอบรางวัล ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022
แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดประจำปี พ.ศ. 2565
AOT เป็นตัวแทนประเทศไทยรับรางวัล ASEAN’s Top Corporate Brand เป็นที่ 5 ติดต่อกัน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน “ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2022” เพื่อมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในแต่ละหมวดธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของแต่ละประเทศในอาเซียน ประจำปี 2565 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 13 ที่มีการจัดงานมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด โดย ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นตัวแทนประเทศไทยคว้ารางวัล ASEAN’s Top Corporate Brand เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานมอบรางวัล ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 โดยมีผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรเข้ารับมอบโล่รางวัลเกียรติยศอย่างพร้อมเพรียง

ศาสตราจารย์ (กิตติคุณ) ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ และ ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล แห่งหลักสูตรปริญญาโทสาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะผู้วิจัย และเป็นผู้สร้างเครื่องมือ CBS Valuation (Corporate Brand Success Valuation) เพื่อวัดมูลค่ามูลแบรนด์องค์กรเป็นเครื่องมือแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า “ปี พ.ศ. 2565 แม้จะมีสถานการณ์ของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่คณะผู้วิจัยยังคงทำวิจัยมูลค่าแบรนด์องค์กรของบริษัทจดทะเบียนทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารของภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อการพัฒนา แบรนด์องค์กรเพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของบริษัทในระยะยาว การวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรได้นำตัวเลขจากงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์มาคำนวณ ใช้ค่าเฉลี่ย 3 ปี (2019 – 2021) โดยได้บูรณาการแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี เพื่อให้สามารถคำนวณมูลค่าแบรนด์องค์กรออกมาได้เป็นตัวเลขทางการเงินโดยไม่มีความลำเอียง”

สำหรับรางวัลสุดยอดแบรนด์องค์กรไทยของแต่ละหมวดธุรกิจในปี 2565 มีจำนวน 13 บริษัท ได้แก่ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม คาราบาวกรุ๊ป (93,050 ล้านบาท), หมวดธนาคาร ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (35,778 ล้านบาท), หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ เมืองไทย แคปปิตอล (100,525 ล้านบาท), หมวดประกันภัยและประกันชีวิต ทีคิวเอ็ม อัลฟา (27,274 ล้านบาท), หมวดวัสดุก่อสร้าง ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) (54,414 ล้านบาท), หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (74,556 ล้านบาท), หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (338,390 ล้านบาท), หมวดพาณิชย์ โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (151,184 ล้านบาท), หมวดการแพทย์ บางกอก เชน ฮอสปิทอล (32,748 ล้านบาท), หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ วีจีไอ (48,612 ล้านบาท), หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (94,428 ล้านบาท), หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (43,784 ล้านบาท), และ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (24,355 ล้านบาท)

โดยปีนี้มีหน้าใหม่เข้ารับรางวัลในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป และหมวดการแพทย์ คือ บางกอก เชน ฮอสปิทอล

ในปี 2565 ไม่มีบริษัทที่ได้รับรางวัลหอเกียรติยศ Thailand’s Top Corporate Brand Hall of Fame ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดต่อเนื่องกัน 5 ปี

สำหรับสุดยอดแบรนด์องค์กรของอาเซียน (ASEAN) มี 6 บริษัท จาก 6 ประเทศ ได้แก่ Bank Central Asia Tbk Ptประเทศอินโดนีเซีย IHH Healthcare Berhad ประเทศมาเลเซีย SM Investments Corporation ประเทศฟิลิปปินส์ Thai Beverage PCL ประเทศสิงคโปร์ Airports of Thailand PCL ประเทศไทย และ Vingroup JSC ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (Airports of Thailand PCL) มีมูลค่าแบรนด์องค์กร 767,669 ล้านบาท สำหรับ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (Thai Beverage PCL) เป็นบริษัทของคนไทยที่ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 มีมูลค่าแบรนด์องค์กร 715,980 ล้านบาท

งานวิจัยประเมินค่าแบรนด์องค์กรนี้ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่น สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2557 และได้ดำเนินการต่อเนื่องยาวนานถึง 13 ปี เป็นงานวิจัยที่มีผลกระทบเชิงสังคมที่ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอย่างสูงเพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กรได้

ที่มา: แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ