JGSEE – มจธ. จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ANALYZING POLICIES AND MEASURES TO ACCELERATE IMPLEMENTATION OF ROAD TRANSPORT ELECTRIFICATION ROADMAP IN THAILAND”

JGSEE – มจธ. จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ANALYZING POLICIES AND MEASURES TO ACCELERATE IMPLEMENTATION OF ROAD TRANSPORT ELECTRIFICATION ROADMAP IN THAILAND”

JGSEE – มจธ. จัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ANALYZING POLICIES AND MEASURES TO ACCELERATE IMPLEMENTATION OF ROAD TRANSPORT ELECTRIFICATION ROADMAP IN THAILAND” ดัน นโยบายขับเคลื่อนการใช้ EV ลดโลกร้อน

จากการที่ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2065 ซึ่งภาคการขนส่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่มีการปล่อยมลพิษ (Emission) โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ออกมามากในลำดับต้นๆ จึงเป็นภาคส่วนที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากภาครัฐ ซึ่งแนวทางการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นหนึ่งในนโยบายของประเทศที่ต้องการเน้นเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ตามเป้าหมาย

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ International Council on Clean Transportation (ICCT) จึงได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นภายใต้โครงการ “ANALYZING POLICIES AND MEASURES TO ACCELERATE IMPLEMENTATION OF ROAD TRANSPORT ELECTRIFICATION ROADMAP IN THAILAND” พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในรูปแบบ Hybrid เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องดวงกมล โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวให้การต้อนรับพร้อมระบุว่า การจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาของโครงการเกี่ยวกับนโยบาย ทิศทางและการนำประเทศไทยเข้าสู่ยานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของประเทศต่อไป”

รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มจธ. และที่ปรึกษาโครงการฯ ได้กล่าวถึง”นโยบายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ Carbon Neutrality” ว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง จากการประชุมร่วมกันหลายครั้งได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าไว้ 3 ประเด็นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนในเรื่องนี้ คือ หนึ่งยานยนต์ไฟฟ้าช่วยแก้ปัญหามลพิษและปัญหาฝุ่น PM2.5 สองยานยนต์ไฟฟ้าช่วยให้ประสิทธิภาพการใช้รถยนต์สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ และกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก จึงกำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือกลุ่มรถยนต์ที่ไร้มลพิษ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ในประเทศทั้งหมด หรือคิดเป็นกำลังการผลิตประมาณ 2 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 โดยเน้นกลุ่ม passenger car หรือรถยนต์ส่วนบุคคล รถมอเตอร์ไซค์ และรถปิกอัพ โดยคาดหวังว่า ในปีค.ศ. 2030 จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถึง 50% เนื่องจากมีความหลากหลายมากขึ้นต่างจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีรถยนต์นั่งไฟฟ้า 33 รุ่น 8 แบรนด์ 9 บริษัท และจะยังมีอีกหลายบริษัทเพิ่มขึ้นตามมา คาดว่าภายในปีหน้าจะเริ่มมีการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นภายในประเทศมากขึ้นจากเดิมที่เป็นการนำเข้า

“ปัจจุบันถือเป็นช่วงเริ่มต้นของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จากตัวเลขการจดทะเบียนรถใหม่ในปีค.ศ. 2022 มีจำนวน 20,000 คัน อาจดูไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับปีค.ศ. 2021 เป็นตัวเลขที่เติบโตสูงมากถึงร้อยละ 260 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ส่วนบุคคล และเมื่อดูเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ปีค.ศ. 2021 มีจดทะเบียนเพียง 5,700 คัน ขณะที่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล จะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยส่วนตัวคาดว่าภายในปีนี้ รถ EV จะเติบโตไม่น้อยกว่า 50,000 คัน และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับสถานีชาร์จ จากตัวเลขล่าสุด พบว่ามีสถานีชาร์จสาธารณะกระจายอยู่กว่า 2,000 จุด และจำนวนหัวชาร์จกว่า 3,000 จุด”

Mr. Francisco Posada Sanchez, Southeast Asia Regional Lead (ICCT) กล่าวถึง “ICCT’s Contributions Towards Net Zero Emissions in Transport Sector at Global and Regional Levels” ว่า ในปี 2021 ยอดขายรถ EV ทั่วโลกมากกว่าปี 2020 เกือบเท่าตัว คิดเป็นส่วนแบ่งของตลาดรถ EV ในปี 2021 เท่ากับ ร้อยละ 8.3 โดยประเทศไทยเป็นผู้นำยอดขายรถ EV ในอาเซียน ถึงร้อยละ 0.4 ส่วนจีนมีความโดดเด่นเรื่องรถบัส EV โดยยอดรถใหม่ในปี 2022 เท่ากับ 138,000 คัน คาดว่า แนวโน้มการใช้รถ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เฉพาะในยุโรปจะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 11 และแนวโน้มราคารถ EV จะลดลง ในอีก 5 ปี พร้อมกล่าวว่า 5 นโยบายหลัก หรือ 5 key policies ด้านการขนส่งสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ ZEV ที่สำคัญ ได้แก่ เป้าหมายการเลิกใช้: การกำหนดวิสัยทัศน์และสัญญาณของตลาดในการเลิกใช้รถยนต์สันดาป, ข้อบังคับที่มีผลผูกพัน: การตรวจสอบความพร้อมใช้งานของแบบจำลองด้านอุปสงค์และอุปทาน, สิ่งจูงใจทางการเงิน: ทำให้ ZEV คุ้มทุนในวันนี้, โครงสร้างการชาร์จ: เพิ่มความสะดวกสบายสูงสุดให้กับ ZEV และ การรับรู้ของผู้บริโภค: สร้างความเข้าใจในประโยชน์ของ ZEV

รศ. ดร. สาวิตรี การีเวทย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ICCT เป็นหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการขนส่งทุกประเภททั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งการที่ประเทศไทยให้สัญญากับประชาคมโลกเรื่องการจะไปสู่ Carbon Neutrality ในปีค.ศ. 2050 นั้น สิ่งสำคัญคือจะต้องลดหรือไม่มีการปล่อยมลพิษ ดังนั้นในภาคขนส่งจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งทางออกก็คือ EV โดยทาง ICCT มองว่า ถ้านานาประเทศไม่เร่งดำเนินการไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก็เท่ากับว่า โลกเราจะไม่สามารถไปสู่เป้าหมายการลดอุณหภูมิลง 1.5 องศาเซลเซียสและการไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ดังกล่าวได้ ICCT จึงพยายามผลักดันโดยเฉพาะเรื่องนโยบายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ให้กับทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งปกติ ICCT จะให้การสนับสนุนประเทศยุโรป และอเมริกาใต้ เป็นครั้งแรกที่ ICCT ให้การสนับสนุนประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่า นโยบายในการสนับสนุนและขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยได้จัดทำขึ้นโดยได้มีการพิจารณาแบบบูรณาการเกือบครบทุกด้านๆ มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการหรือเพิ่งริเริ่มจัดทำนโยบาย ในการวิจัยในโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษานโยบายที่ผลักดันและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย โดยนำบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มาปรับปรุงใช้ในบริบทของประเทศไทย

นอกจากนี้ รศ. ดร. สาวิตรี ได้กล่าวว่า การจัดทำโครงการ “ANALYZING POLICIES AND MEASURES TO ACCELERATE IMPLEMENTATION OF ROAD TRANSPORT ELECTRIFICATION ROADMAP IN THAILAND” นี้ มีวัตถุประสงค์หลักคือการจัดทำสมุดปกขาว เพื่อใช้เป็นรายงานข้อเสนอแนะให้ภาครัฐในการจัดทำนโยบายผลักดันประเทศไปสู่ Carbon Neutrality และ Climate Neutrality ให้ได้ตามเป้าหมายโดยเฉพาะในภาคขนส่ง

“ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีนโยบายขับเคลื่อนการใช้ EV โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ของไทยที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนด้วยการไม่สร้างหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือนโยบาย 30@30 ด้านการผลิตและการใช้ ล้วนเป็นนโยบายสนับสนุนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการสร้างยานยนต์ไฟฟ้า”

หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ทุกประเทศในอาเซียนกำลังขับเคลื่อนไปสู่ Cleaner Transport ด้วยเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ทั้งนี้ หากพูดถึงประเทศในกลุ่มอาเซียน ไทยเราถือว่าเป็นผู้นำเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเราไม่ได้ส่งเสริมแค่การใช้ แต่ยังส่งเสริมด้านการผลิต โดยตอนนี้มีหลายบริษัทกำลังจะเข้ามาผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยไม่ได้มีแต่เพียงนโยบายสนับสนุนเรื่องของยานยนต์เท่านั้น แต่ยังมีนโยบายส่งเสริมการขยายสถานีชาร์จอีกด้วย

“หากเปรียบเทียบนโยบายด้าน EV ของไทย กับ 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ จากผลการศึกษาพบว่า นโยบายของไทยให้การสนับสนุนการใช้และการผลิต EV ชัดเจนที่สุด ทั้งเรื่องแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้ และมาตรการด้านภาษี พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นกว่าประทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งอาจเพราะไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคจึงต้องการรักษาสถานภาพนี้ไว้ ขณะที่เวียดนามมีนโยบายลดภาษีเป็นศูนย์ที่เกี่ยวกับการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ไม่มีในประเทศ ส่วนอินโดนีเซียยังอยู่ในช่วงวางแผนเรื่อง กฎระเบียบใหม่ (new regulations) ด้านมาเลเซียยังเป็นเรื่องเป็นการจัดเตรียมนโยบายด้านภาษีเท่านั้น และฟิลิปปินส์ที่ถึงแม้จะมีกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ยังเป็นเพียงภาพกว้างๆ ที่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่คาดว่าจะไปสู่ 30@30 หรือการผลิตและการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศได้ ภายในปีค.ศ. 2030 นอกจากนี้ ผลการศึกษาในแง่การครอบครองยานยนต์ไฟฟ้าต่อประชากร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ พบว่า ในปัจจุบันการครอบครองยานยนต์ไฟฟ้าของไทยยังสูงกว่าเกาหลีใต้ รวมถึงการใช้และการผลิต”

อย่างไรก็ตามพบว่าการขับเคลื่อนไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้น มีอุปสรรคและความท้าทายที่สำคัญ คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอาเซียน ยังห่วงเรื่องของราคา ภาษี สถานีชาร์จ แบตเตอรี่ที่ยังมีราคาแพง และกังวลเรื่องของอายุการใช้งาน รวมถึงประเด็นแหล่งที่มาของการผลิตไฟฟ้าที่จะต้องผลิตด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยเองได้มีการกำหนดในแผนการผลิตไฟฟ้าไว้ว่า ภายในปี 2023 ร้อยละ 50 ของการผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ new power generation จะต้องมาจากแหล่งพลังงานทางเลือก

รศ. ดร. สาวิตรี กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่คาดหวังหากแหล่งที่มาของไฟฟ้ายังเป็นดั่งปัจจุบันที่พลังงานส่วนใหญ่มาจากพลังงานฟอสซิล จึงจำเป็นจะต้องมีแหล่งที่มาของไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด โดยพยายามผลักดันให้เกิดพลังงานทดแทน ตามแผนพลังงานที่กำหนดจะต้องมีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 30 ตามเป้าหมาย และอีกประเด็นที่ประเทศไทยควรมีการผลักดันอย่างเร่งด่วน คือ การใช้ EV ในพื้นที่เมืองหรือภูมิภาค เพราะจะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลสรุปจากสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันนี้ จะดำเนินการจัดทำเป็นสมุดปกขาว ซึ่งรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อคิดเห็นทั้งหมด เพื่อส่งมอบให้กับผู้กำหนดนโยบายต่อไป

ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ