ม.มหิดลปูทางนักศึกษา สู่หนทางแห่งความเป็นเลิศด้วยจริยธรรม

ม.มหิดลปูทางนักศึกษา สู่หนทางแห่งความเป็นเลิศด้วยจริยธรรม

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคปัจจุบันนี้ ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหรือดิจิทัล คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง และแสวงหาความรู้ข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว วันนี้เราจึงกำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลก ที่มีความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้เสมอไป สิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคดิจิทัลกลับกลายเป็นหลักการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการตัดสินใจ

อาจารย์ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล คณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การนำทักษะและความรู้มาใช้โดยไม่ได้คิดพิจารณาไตร่ตรองอาจเกิดประโยชน์ หรือโทษก็ได้ จริงๆ แล้ว หลักการคิด และการตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักจริยธรรม เป็นปัจจัยจำเป็นที่มีความสำคัญมากหลักจริยธรรมจะช่วยให้แต่ละคนมีหลักพิจารณาตัดสินใจช่วยให้แต่ละคนมองออกว่า อะไรที่คิดพูดทำแล้วเกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่น อะไรที่ถูก อะไรที่ผิด อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเหมาะสม และอะไรไม่เหมาะสม

วันนี้ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถือศาสนาอะไรการมีหลักตัดสินใจจะช่วยให้แต่ละคนรู้ว่า ควรคิดพูดทำอย่างไรจึงเกิดประโยชน์ และสร้างคุณค่าให้ตนเองกับสังคมนี่เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเราจึงจำเป็นต้องปลูกฝังจริยธรรม

ถ้าเปรียบเทียบการนำความรู้มาใช้เป็นการสร้างบ้าน ถ้าเราอาจสร้างบ้านโดยมีฐานรากที่ไม่แข็งแรง บ้านหลังนั้นอาจสร้างได้เสร็จเร็ว แต่สุดท้ายแล้วบ้านหลังนั้นจะพังลง แต่ถ้าเราปลูกฝังจริยธรรมให้ดี ก็เปรียบเสมือนการสร้างฐานรากให้มั่นคงก่อน เมื่อเราสร้างบ้าน บ้านหลังนั้นก็จะมีโครงสร้างที่แข็งแรง มีความมั่นคงและเป็นหลักเป็นที่พึ่งของคนในบ้านได้ จริยธรรมคือสิ่งที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จอย่างมั่นคงและเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้

สิ่งที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนัก คือการปลูกฝังจริยธรรมให้นักศึกษามองเห็นคุณค่าของ “การให้” “ความเข้าใจ” และ “ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์”

หลายวิชาที่มีการจัดการสอนช่วยให้มีความเข้าใจความแตกต่างความหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม ความเข้าใจความแตกต่างช่วยให้เรามีหลักคิดว่า ควรคิดพูดทำอย่างไรเพื่อให้เกียรติทุกคน และช่วยให้มองออกว่า คนในแต่ละสังคมเขาต้องการอะไร และหากเราจะทำธุรกิจ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจ หรือนวัตกรรมดังกล่าว จะสร้างคุณค่าอย่างแท้จริง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและจิตใจ

ในอีกด้านหนึ่ง ในการพัฒนาหลักคิดให้มองได้รอบด้านบัณฑิตควรมีความรู้หลายด้านที่จำเป็นในโลกดิจิทัล ดังนั้นวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จึงพัฒนาหลักสูตรเพื่อฝึกทักษะในการคิดทั้งเรื่องของการคิดนอกกรอบ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงนวัตกรรม การคิดอย่างผู้ประกอบการความเข้าใจเรื่องธุรกิจ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล และอื่นๆ

ในช่วงเวลาสี่ปีของการเรียนที่วิทยาลัยศาสนศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จะให้ความสำคัญกับ “การเข้าใจตัวเอง” “การเข้าใจผู้อื่น” และ “การเข้าใจหลักคิดโลกยุคดิจิทัล” โดยสนับสนุนให้นักศึกษาเก่งในสิ่งที่นักศึกษาเลือกและชอบ นักศึกษาจะได้ค้นหาตัวเอง และเลือกเส้นทางชีวิตในการทำงานของตัวเอง

นอกจากนี้ วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นประโยชน์จากการให้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องการปลูกฝังจริยธรรมที่ขยายไปสู่วงกว้าง จึงเป็นที่มาของการจัดบริการวิชาการในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดโครงการแนะแนวแนะใจในช่วงปีที่ผ่านมา และการสร้างความร่วมมือกับคู่ความร่วมมือต่างๆ ตัวอย่างเช่น การทำความร่วมมือกับ “มูลนิธิครูดีของแผ่นดิน” เพื่อเตรียมจะจัดบริการวิชาการให้ความรู้กับเครือข่ายครู บุคคลทั่วไป และนักเรียนในเครือข่ายทั่วประเทศ

หากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “เปิดบ้านวิชาการ CRS Open House 2023 ภายใต้แนวคิด รู้จักเราให้มากกว่าเดิม” พบกันวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน 2566 ที่จะถึงนี้

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ