ม.มหิดลพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมิกส์ เพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ม.มหิดลพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีจีโนมิกส์ เพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง

ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง หรือโรคไม่ติดต่อในกลุ่ม NCDs อื่นๆ อาทิ เบาหวานความดัน โรคหัวใจ หรือโรคติดเชื้อเอชไอวี ฯลฯ ความหวังของการมีชีวิตยืนยาวยังคงอยู่ที่การคัดกรองเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังก่อนเกิดโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคมะเร็ง ทั้งก่อนจะเป็นโรค และก่อนการเกิดเป็นมะเร็งซ้ำ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการเกิดมะเร็งซ้ำ สามารถพบได้ภายหลังโรคสงบลงแล้ว โดยเป็นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งโรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำจุดเดิม หรือเกิดมะเร็งขึ้นใหม่ในตำแหน่งอื่น โดยมีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีนก่อมะเร็ง

ซึ่งปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ที่ริเริ่มขึ้นโดยศิริราชทำให้สามารถเฝ้าระวังได้ถึงระดับยีนหรือสารพันธุกรรมโดยการตรวจจากเลือด และชิ้นเนื้อ

การตรวจจากเลือดในระดับยีนเป็นวิธีการที่แม่นยำกว่าการตรวจหาโปรตีนสารบ่งชี้มะเร็งต่างๆ เช่น CEA (Carcinoembryonic Antigen) ตามที่มีในรายการตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไป ซึ่งมีข้อจำกัดที่ความจำเพาะ และความไวต่ำ เหมาะสำหรับการติดตามหลังการรักษามากกว่าการตรวจในครั้งแรก ซึ่งกว่าจะทราบถึงการผิดปกติ ก็มักเป็นในระยะลุกลามแล้ว โดยอาจเริ่มมีการกระจายสู่ต่อมน้ำเหลือง ซึ่งหมายถึงโอกาสในการทำให้อาการของโรคมะเร็งสงบลงเป็นไปได้ยากมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการตรวจยีนมะเร็งที่ถ่ายทอดได้ภายในครอบครัวจากเลือด ซึ่งศิริราชเปิดให้บริการมานานนับทศวรรษ จนปัจจุบันสามารถใช้ตรวจกลุ่มเสี่ยงได้มากถึง2,000 รายต่อปี และอีกการตรวจหนึ่งที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2566 นี้ ได้แก่ การตรวจการกลายพันธุ์ของยีนจากชิ้นเนื้อมะเร็ง (Comprehensive Genomic Profile) ซึ่งสามารถตรวจพร้อมกันได้ถึง 300 ยีนในคราวเดียว เพื่อนำไปสู่การเลือกยา หรือวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้าต่อไป ซึ่งสามารถทราบผลได้ในเวลาอันสั้น พร้อมนำไปเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณารักษาได้ทันที

โดยปัจจุบันการบริการทางแพทย์ของไทยได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการดูแลรักษาโรคซับซ้อน ในฐานะหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Destinations) ที่สามารถนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี

องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีจีโนมิกส์และชีววิทยาของโรคมะเร็งยังมีอีกหลายมิติที่รอการเข้าถึง ซึ่งปัจจุบันคาดว่าเรายังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งไม่ถึงร้อยละ 10 มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพร้อมมุ่งมั่นเดินหน้าศึกษาวิจัยวิธีการใหม่ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างตรงจุด โดยอาศัยข้อมูลจีโนมเพื่อให้ได้ผลของการพยากรณ์ที่แม่นยำ และการรักษาที่ดีขึ้น

ซึ่งจะเป็นการทำให้โอกาสในการสร้างมหัศจรรย์แห่งชีวิตใหม่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งมีมากขึ้นตามไปด้วย จากการสามารถทำให้โรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่รักษาได้และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ที่มา: มหาวิทยาลัยมหิดล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ