
SPU มุ่งปั้นนักศึกษาพร้อมทำงานจริง ย้ำมหาวิทยาลัยยุคใหม่ “ไม่ใช่แค่ผลิตบัณฑิต แต่ต้องสร้างอนาคตให้กับบัณฑิต”
ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม และนายกสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (คอวท.) ได้รับเกียรติร่วมเสวนาในรายการ “คลังสมอง-คลังปัญญาสยาม” ภายใต้หัวข้อ “มหาวิทยาลัยที่สร้างรายได้ให้กับผู้เรียน” จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ โดยมี รศ.ดร.บวร ปภัสราทร ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติเป็นผู้ดำเนินรายการ
ในการเสวนาครั้งนี้ ผศ.ดร.วิรัช เน้นว่าพันธกิจของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่การ “ผลิตบัณฑิต” แต่ต้อง “สร้างอนาคต” ให้กับผู้เรียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเทคโนโลยี AI การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
มหาวิทยาลัยเชิงรุก – กลยุทธ์ 4C สู่ความสำเร็จ
มหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็นตัวอย่างองค์กรการศึกษาที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด “Proactive University” หรือมหาวิทยาลัยเชิงรุก ซึ่งมุ่งผลักดันใน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่
- Curriculum (หลักสูตร) – ไม่เพียงแค่ปรับให้ทันสมัย แต่ต้องยืดหยุ่นและตอบโจทย์ตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจัดกลุ่มวิชาที่มุ่งเน้นทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในโลกการทำงาน
- Co-creation & Co-design (การร่วมสร้างและออกแบบ) – สร้างความร่วมมือเชิงลึกกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันออกแบบหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานจริง
- Connection (เครือข่าย) – พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการให้เข้มแข็งและยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมมีเครือข่ายกับสถานประกอบการกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักศึกษา
- Career Path (เส้นทางอาชีพ) – วางแผนเส้นทางอาชีพให้นักศึกษาตั้งแต่ปีแรก พร้อมสร้าง Portfolio ที่มีคุณค่า และมีโอกาสสร้างรายได้ระหว่างที่ยังเรียนอยู่
ผศ.ดร.วิรัช เน้นย้ำถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัยศรีปทุมในการผลิตบัณฑิตที่เป็น “Ready to Work Graduate” หรือบัณฑิตที่พร้อมทำงานได้จริงแม้ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจริงร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำ
การสร้างรายได้ระหว่างเรียนถือเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดนี้ โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้วางรูปแบบไว้ 4 ลักษณะ ได้แก่
- สหกิจศึกษาแบบมีรายได้ – นักศึกษาได้รับโอกาสฝึกปฏิบัติงานในสถานประกอบการพร้อมได้รับค่าตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรเรือสำราญที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปฝึกงานในต่างประเทศพร้อมรับค่าตอบแทนที่น่าพอใจ
- รายได้จากผลงานและบริการตามวิชาชีพ – มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นตัวกลางรับงานจากภาคธุรกิจมาให้นักศึกษาได้ทำโครงการจากโจทย์จริง พร้อมได้รับค่าตอบแทน อาทิ D-Club ของคณะดิจิทัลมีเดีย, SiM agency ของคณะนิเทศศาสตร์ และ BIM Club ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่สร้างรายได้สูงให้นักศึกษาจากผลงานระหว่างเรียน
- รายได้จากการเป็นผู้ประกอบการ – มหาวิทยาลัยสนับสนุนนักศึกษาที่มีแนวคิดธุรกิจด้วยหน่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการและช่องทางหาแหล่งทุน ทำให้นักศึกษาจำนวนมากมีรายได้จากการทำธุรกิจของตัวเองระหว่างที่ยังศึกษาอยู่
- รายได้จากงาน Part-time – จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ประสานกับสถานประกอบการในการหางานพาร์ทไทม์คุณภาพดีให้กับนักศึกษา
การเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมจริง – กุญแจสู่บัณฑิตคุณภาพ
ผศ.ดร.วิรัช ย้ำว่า การได้เรียนรู้และฝึกฝนในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะอย่างแท้จริง และพร้อมก้าวสู่การเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ สามารถทำงานได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา
“ความสามารถนี้ไม่เพียงช่วยให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้พวกเขาสามารถเผชิญกับความท้าทายในโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” ผศ.ดร.วิรัช กล่าว
มหาวิทยาลัยศรีปทุมจึงมุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่วัดผลได้จริง ทั้งในด้านความเชี่ยวชาญทางวิชาการ รายได้ระหว่างเรียน และโอกาสในการประกอบอาชีพ เพื่อให้บัณฑิตพร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาสในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
