มธ.จัดทำคู่มือรับมือแผ่นดินไหวฉบับประชาชน ปิดช่องว่างข้อมูลภัยพิบัติในไทย

มธ.จัดทำคู่มือรับมือแผ่นดินไหวฉบับประชาชน ปิดช่องว่างข้อมูลภัยพิบัติในไทย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ตอกย้ำบทบาทสถาบันการศึกษาเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดตัว “คู่มือรับมือแผ่นดินไหว: ฉบับประชาชน” ในรูปแบบ E-book เพื่อยกระดับการเตรียมความพร้อมของประชาชนในการรับมือภัยธรรมชาติ ครอบคลุมทั้งมิติวิศวกรรม สุขภาพกาย สุขภาพจิต และการสื่อสารในภาวะวิกฤต

ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มธ. มุ่งหวังให้คู่มือนี้ช่วยปิดช่องว่างข้อมูลด้านการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในระดับประชาชน ภายใต้หลักคิด “ภัยธรรมชาติ…แม้ยากคาดการณ์ แต่สามารถเตรียมพร้อมได้” โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดี มธ. เปิดเผยว่า คู่มือฉบับนี้รวบรวมจากองค์ความรู้ทางวิชาการร่วมสมัย พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ครอบคลุมการเตรียมตัวก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ

ไฮไลต์สำคัญคือการให้ความรู้ด้านการตรวจสอบความเสียหายของอาคารด้วย AI ผ่านแอปพลิเคชัน “InSpectra-o1” เพื่อประเมินรอยร้าวและโครงสร้างอาคารเบื้องต้น รวมถึงคำแนะนำการฟื้นฟูสมรรถภาพ การเตรียมร่างกายให้คล่องแคล่วในภาวะฉุกเฉิน และเทคนิคการดูแลสุขภาพจิตตามหลักจิตวิทยา

นอกจากนี้ คู่มือยังวางแนวทางการสื่อสารในภาวะวิกฤตทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคมออนไลน์ เน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ตรวจสอบแหล่งข้อมูลก่อนส่งต่อ และใช้เครือข่ายการสื่อสารหลากหลายช่องทางในกรณีที่ระบบสื่อสารหลักล่ม

มธ. ตั้งเป้าให้คู่มือนี้เป็นต้นแบบของแหล่งข้อมูลการรับมือภัยพิบัติรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต สร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ในสังคมไทย และเปลี่ยนแนวคิดจากการตั้งรับสู่การเตรียมพร้อมเชิงรุกอย่างเป็นระบบ

คู่มือดังกล่าวยังรวบรวมลิงก์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินที่ควรบันทึกไว้ เช่น สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, ดับเพลิงและกู้ภัย 199, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในทุกสถานการณ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ