ส่องหลักสูตรสหวิทยาการระดับปริญญาโทด้านการจัดการภาษี หลักสูตรแรกของประเทศไทย

ส่องหลักสูตรสหวิทยาการระดับปริญญาโทด้านการจัดการภาษี หลักสูตรแรกของประเทศไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมมือกับกระทรวงการคลังได้เปิดตัวหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี (หลักสูตรสหสาขาวิชา) ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย เพื่อพัฒนาบุคลากรคุณภาพด้านการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพ

หลักสูตรเป็นการผสานความร่วมมือจาก 5 คณะของจุฬาฯ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนได้รับองค์ความรู้มุมมองที่หลากหลายและครอบคลุม

หลักสูตรนี้มี 2 แผนการเรียน:

  • แผน 1 แบบวิชาการ (ศึกษารายวิชาและทำวิทยานิพนธ์) มุ่งเน้นการสร้างผู้นำทางวิชาการด้านการจัดการภาษี
  • แผน 2 แบบวิชาชีพ (ศึกษารายวิชาและรายวิชาค้นคว้าอิสระ) มุ่งเน้นการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิบัติ

รายละเอียดการเรียน

หลักสูตรมีจำนวน 36 หน่วยกิต เปิดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2568 ในรูปแบบภาคนอกเวลาราชการ โดยจัดการเรียนการสอนวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยรูปแบบการเรียนแบบผสมผสานที่ให้ความยืดหยุ่นสูงสุดแก่ผู้เรียน

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงหลักสูตรนี้ว่า หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการภาษี ภายใต้ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกระทรวงการคลัง เป็นการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและนโยบายของภาครัฐเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นหลักสูตรสหสาขาวิชาด้านการจัดการภาษีหลักสูตรแรกของประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนระบบภาษีของประเทศให้ทันสมัย โปร่งใส และเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในยุคดิจิทัล หลักสูตรนี้จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างความรู้ทางวิชาการกับการปฏิบัติจริง และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมด้านการจัดการภาษีที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปในอนาคต

“หลักสูตรนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน การสร้างความก้าวหน้าขององค์ความรู้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมทั้งบ่มเพาะปัญญาให้แก่ประชากรทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด Chula Togetherness – จุฬาฯ เติบโตรอบทิศ มีนิสิตเป็นศูนย์กลาง” จุฬาฯ มุ่งมั่นออกแบบหลักสูตรที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมนิสิตให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ ทั้งในด้านวิชาการและคุณค่าทางสังคม    อย่างแท้จริง” ศ.ดร.วิเลิศกล่าว

สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าศึกษา สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.grad.chula.ac.th

Tags :

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ