นักศึกษาวิศวะมหิดล เผยเคล็ดลับทักษะเรียนดี ใฝ่เรียนรู้…เปิดสู่โลกกว้าง
อนาคตประเทศไทยเดินหน้าด้วยพลังสร้างสรรค์ของเยาวชน รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความยินดีกับ นางสาวปณิดา เซ็น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องในโอกาสเข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลการศึกษาดีเด่น ประจำปี 2563 ผลคะแนนเฉลี่ยสะสม 3.97 จากกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ พระราชทานแก่นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากทั่วประเทศที่มีผลการเรียนดี ณ ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
ปณิดา เซ็น (ไกว่ไกว๊) นักศึกษาปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นคนกรุงเทพฯ จากครอบครัวที่ทำธุรกิจค้าขาย เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ และใฝ่เรียนรู้โลกกว้างมาแต่เด็ก ย้อนเวลาไปสมัยที่เรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เคยเข้าร่วมทีมไทยในการแข่งขันดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 9 ที่ประเทศอินโดนีเซีย สร้างชิ่อเสียงให้ประเทศไทยโดยคว้ารางวัลระดับประเทศไทย 1 เหรียญทอง และระดับนานาชาติ 3 เหรียญทองแดง นอกจากนี้ตอนเรียนปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ยังได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ CERN Summer Students หรือนักศึกษาภาคฤดูร้อนศึกษาวิทยาการเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ไกว่ไกว๊ กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจและปลื้มปิติอย่างยิ่ง ที่ได้เป็นตัวแทนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับพระราชทานเหรียญรางวัลเรียนดี จากในหลวงรัชกาลที่ 10 ครั้งนี้ เคล็ดลับในการเรียนดี คือ เรียนด้วยความอยากเรียนรู้ ตั้งใจและเรียนแบบเข้าใจ หากไม่เข้าใจอะไรให้ถามอาจารย์ผู้สอนทันที สำคัญที่เราต้องมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง หมั่นทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอ มองปัญหาเป็นความท้าทาย ให้เราคิดวิเคราะห์ แก้ไข สนุกกับการสร้างสรรค์ รู้จักปรับตัวกับสิ่งใหม่ๆและการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสม ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่สนใจด้วย ปัจจุบันทำวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมอุปกรณ์ถนอมหัวใจขณะรอการปลูกถ่าย (Perfusion Machine) ร่วมกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.มหิดล นวัตกรรมนี้เป็นเครื่องเก็บรักษาหัวใจ ที่จำลองสภาพแวดล้อมของร่างกาย ทำให้สามารถเก็บรักษาหัวใจได้นานขึ้น จากเดิมที่เก็บรักษาด้วยน้ำแข็ง ซึ่งได้แค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้น หากใช้นวัตกรรมนี้ จะช่วยเก็บรักษาหัวใจได้นานถึง 12 ชั่วโมง
ในฐานะคนรุ่นใหม่และว่าที่วิศวกรในอนาคต ไกว่ไกว๊ อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาประเทศ มีความใฝ่ฝันว่าอยากเปิดบริษัทออกแบบและผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ตามโรงพยาบาลและชุมชนในต่างจังหวัด ให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมากขึ้น นอกจากนี้ หากประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องมือแพทย์ใช้เองภายในประเทศ จะช่วยลดและประหยัดงบประมาณในการนำเข้าซึ่งมีราคาสูงได้เป็นอย่างมาก แต่เนื่องด้วยอุปกรณ์การแพทย์เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องมีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ ทำให้ต้องส่งอุปกรณ์การแพทย์ของไทยออกไปขอการรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศก่อน บ้านเราควรสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยมีมาตรฐานรับรองระดับสากลภายในประเทศ เพื่อที่ไทยจะได้ก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างยั่งยืน พร้อมกับส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนาขีดความสามารถของตนเองมากยิ่งขึ้นด้วย
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น