ศิษย์เก่าท่องเที่ยวฯ DPU แนะอาชีพมั่นคงด้านท่องเที่ยว พร้อมแนะ 4 แนวทาง ผปก.ท่องเที่ยวปรับตัวให้ทันโลกเปลี่ยน

ศิษย์เก่าท่องเที่ยวฯ DPU แนะอาชีพมั่นคงด้านท่องเที่ยว พร้อมแนะ 4 แนวทาง ผปก.ท่องเที่ยวปรับตัวให้ทันโลกเปลี่ยน

ศิษย์เก่าท่องเที่ยวฯ DPU แนะอาชีพมั่นคงด้านท่องเที่ยว พร้อมแนะ 4 แนวทาง ผปก.ท่องเที่ยวปรับตัวให้ทันโลกเปลี่ยน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลกมีประกาศสั่งปิดเมือง ปิดประเทศ จำกัดการเดินทาง และงดกิจกรรมการรวมตัวเป็นจำนวนมากนั้น รวมถึงหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักและปิดตัวลง บุคลากรในหน่วยงานเอกชนในหลายสาขาอาชีพ ต่างเริ่มกังวลกับความมั่นคงในการทำงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้อย่างมหาศาล ที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแล้วหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ยังสามารถยืนอยู่ท่ามกลางวิกฤตินี้ได้บ้าง

นายรณพล จันทราโชติ (คุณอัน) เลขานุการ ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)   ศิษย์เก่าของภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้แชร์แนวทางประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวให้กับน้องๆ ที่ยังคงรักงานด้านนี้และกำลังมองหางานที่มั่นคงแม้ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้  อยากให้น้องๆ หันมาทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดูบ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงระบาดของโควิด-19 ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบ มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ดังนั้น ในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ การทำงานในภาคเอกชนอาจจะสร้างความมั่นคงในอาชีพได้ไม่มากเท่ากับการทำงานกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือภาครัฐ

คุณอัน เล่าย้อนไปจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานที่ ททท. ให้ฟังว่า หลังจบการศึกษาเริ่มต้นงานกับองค์กรเอกชน ต่อมาได้เปลี่ยนมาทำงานที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีความมั่นคงกว่าเอกชน และอีกประเด็น คือ สวัสดิการของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับจะครอบคลุมในหลายๆด้าน ซึ่งตัวเองก็พิจารณาแล้วว่า ททท. เหมาะสมที่สุด ซึ่งเวลานั้น ททท.กำลังเปิดรับสมัครพนักงานพอดี จึงไปสมัครสอบและผ่านเกณฑ์เข้าทำงานนับแต่นั้น เนื่องจากเป็นงานด้านการตลาด จึงต้องประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้กับองค์กรต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายพันธมิตรเพื่อทำการตลาดการท่องเที่ยวภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังมีงานสนับสนุนข้อมูลวิชาการ งานวิเคราะห์แผนการตลาด การจัดประชุม การบรรยายเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้  โดยพื้นที่รับผิดชอบทำการตลาดจะครอบคลุมหลายพื้นที่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  โดยใน 1 เดือน ปฏิบัติงานที่สำนักงานกรุงเทพฯเพียงไม่กี่วัน ที่เหลือต้องเดินทางไปสำนักงานภูมิภาคและแหล่งท่องเที่ยวทางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงตรงนี้รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้ศึกษาที่ DPU เพราะตนสามารถนำความรู้จากในห้องเรียนมาใช้ในการทำงานได้จริง โดยบูรณาการจากหลากหลายวิชา เช่น วิชามัคคุเทศก์ วิชาการจัดนำเที่ยว วิชาประวัติศาสตร์ไทยเพื่อการนำเที่ยว ฯลฯ

คุณอันเล่ากล่าวถึงความแตกต่างของการเป็นมัคคุเทศก์ที่มีประสบการณ์กับงานการตลาด ว่า ผู้ที่มีอาชีพการนำเที่ยว การทำทัวร์ ต้องมีจิตใจของการบริการ มีความรู้รอบตัว มีทักษะการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่าง ๆ มาพูดคุยกับนักท่องเที่ยวได้อย่างมีอรรถรส และสิ่งสำคัญคือต้องมีปฏิภาณไหวพริบที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เนื่องจากการทำงานในภาคการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากพูดถึงงานด้านการตลาดทั่วไป ส่วนมากจะเป็นงานที่ต้องวิเคราะห์ลักษณะลูกค้าที่มีแนวโน้มจะซื้อสินค้า สินค้าที่มีควรจะขายให้กับกลุ่มลูกค้าประเภทใด วางขายที่ใดจึงจะเหมาะสม ควรตั้งราคาสินค้าเท่าใด และสินค้าต้องมีความโดดเด่นอย่างไรจึงจะดึงดูดใจให้คนมาซื้อ

แต่ถ้าเป็นงานของนักวางแผนการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวจะมีมากกว่านั้น กล่าวคือ ต้องเข้าใจองค์ประกอบของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างชัดเจน ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว พาหนะเดินทาง ร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก รวมถึงร้านขายของฝาก ของที่ระลึก เพื่อจะนำมาร้อยเรียงให้เป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ (package tour)  บุคคลที่สามารถวางแผนการตลาดท่องเที่ยวได้อย่างเข้าใจนักท่องเที่ยว ส่วนมากจะมีพื้นฐานของการผ่านงานด้านผู้นำเที่ยวมาก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์โดยตรงในการบริการนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญมากเพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน ชอบเดินทางเอง ดังนั้น งานการตลาดที่เข้ามาใหม่ คือ การที่หน่วยงาน ททท. เขียนรายการนำเที่ยวขึ้นมาแล้วเชิญบล็อกเกอร์ (blogger) ท่องเที่ยวไปช่วยรีวิวการเดินทางดังกล่าวให้

คุณอันเล่าย้อนกลับไปถึงการตัดสินใจมาเรียนที่ DPU ว่า เพราะเชื่อว่าในบรรดามหาวิทยาลัยเอกชน สาขาวิชาการท่องเที่ยวของ DPU มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสาขาการท่องเที่ยวในสมัยนั้น เนื่องจากเป็นคนชอบทำกิจกรรม ตลอดระยะเวลาเรียนการทำกิจกรรมจึงได้หล่อหลอมความเป็นผู้นำในด้านต่าง ๆ ให้กับตน และระหว่างเรียนอาจารย์ทุกท่านก็ให้ความเมตตา และเอาใจใส่ จนทำให้ตนเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เมื่อก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้สามารถทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศด้านการท่องเที่ยวได้อย่างภาคภูมิใจ และอยากฝากเชิญชวนน้อง ๆ ลองมาทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบ้างซึ่งจะเห็นได้ว่าในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ หน่วยงานเอกชนอาจได้รับผลกระทบแต่หน่วยงาน ททท.ซึ่งเป็นรัฐวิสากิจยังสามารถสร้างความมั่นคงในอาชีพได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ต่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงของต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยนั้น คุณอัน ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า ในอดีตประเทศไทยได้เผชิญเหตุการณ์โรคระบาดและภัยธรรมชาติมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้นับว่ารุนแรงมาก สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องยอมรับ อันดับแรก คือ รูปแบบของพฤติกรรมการท่องเที่ยวและการติดต่อซื้อขายจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเรียกว่า digital disruption ที่คนทั่วโลกได้ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักท่องเที่ยวจะมีความชำนาญและพฤติกรรมการค้นหาข้อมูล การสำรองและการแชร์ข้อมูลของนักท่องเที่ยวจะรวดเร็วมาก ถ้าผู้ประกอบการใดปรับตัวไม่ทันก็จะต้องยุติธุรกิจไปโดยปริยาย   

ดังนั้น ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะต้องปรับตัวให้พร้อมและทันกับการเปลี่ยนแปลง เช่น 1) งานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศก็บรรลุความสำเร็จได้ ดังนั้น สถานที่ทำงานอาจจะลดความสำคัญลง 2) พนักงานในองค์กรจะต้องพร้อมที่จะพัฒนาทักษะงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการ up-skill, reskill หรือ cross-skill ซึ่งหมายถึงพนักงาน1 คน ต้องสามารถทำงานได้หลายตำแหน่งงาน เช่น เดิมหน้าที่ประจำคือเขียนโปรแกรมทัวร์ อาจจะต้องสามารถออกแบบทำcontent ทำคลิป ส่งเสริมการตลาดได้ 3) ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอขายอาจต้อง customized สามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวหรือพฤติกรรมการท่องเที่ยวแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน 4) รูปแบบการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากการขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียว เป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น  เพื่อสร้างความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ อาจเป็นการขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เช่น ธุรกิจจำหน่ายอาหาร ธุรกิจจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของฝากหรือสินค้าชุมชนท่องเที่ยว อาจพลิกโฉมมาเป็นการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์แทน

บทความโดย ดร.อนันต์  เชี่ยวชาญกิจการ

คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ