มูลนิธิซิตี้ จับมือ มูลนิธิ EDF เปิดโอกาสสร้างอาชีพให้นักเรียนอาชีวะ – ชุมชน ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เผยเทรนด์ผลสำรวจ “เทคโนโลยีดิจิทัล-การขาย-การตลาด” ยังมาแรง

มูลนิธิซิตี้ จับมือ มูลนิธิ EDF เปิดโอกาสสร้างอาชีพให้นักเรียนอาชีวะ – ชุมชน ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เผยเทรนด์ผลสำรวจ “เทคโนโลยีดิจิทัล-การขาย-การตลาด” ยังมาแรง

มูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) ร่วมมือกับมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) จัดโครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน เปิดพื้นที่ สร้างสังคมแห่งโอกาส จัดกิจกรรมตลาดนัดอาชีพสำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง และชุมชนอีก 15 ชุมชน ในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ ร่วมแสดงความสามารถจากทักษะความถนัดผ่านการนำเสนอผลงาน พร้อมฟังบรรยายเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 รวมไปถึงไฮไลท์จัดประกวดการนำเสนอผลงานของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาสู่ระดับประเทศ สะท้อนภาพรวมตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มความต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ผลสำรวจแนวโน้มการจ้างงานโดยบริษัทสรรหาบุคลากรชั้นนำพบว่า ในปี 2566 สายงาน “เทคโนโลยีดิจิทัล-การขาย-การตลาด” ยังเป็นอาชีพมาแรง พนักงานที่มีทักษะเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการของธุรกิจในไทยเพิ่มมากขึ้น ด้วยประสบการณ์และความพร้อมในการเริ่มงานได้ทันทีโดยไม่ต้องฝึกอบรมใหม่เป็นคุณสมบัติที่หลายบริษัทมองหา ซึ่งนอกจากทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงานแล้ว ผลการสำรวจยังชี้ว่าพนักงานที่มีความสามารถในการปรับตัวสูง มีความยืดหยุ่น และความฉลาดทางอารมณ์มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการสูงมากขึ้นด้วย ในขณะที่เทรนด์อาชีพและความต้องการบุคลากรที่มีทักษะพร้อมทำงาน พบว่าผู้เรียนสายอาชีวศึกษา ที่ผ่านการเรียนรู้ทักษะสายวิชาชีพอย่างเข้มข้น ประกอบกับมีโอกาสในการปฏิบัติงานจริงอย่างสม่ำเสมอ สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้หลายหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลจึงร่วมเสริมสร้างทักษะอาชีพที่เป็นที่ต้องการให้แก่นักเรียนอาชีวะ เพื่อก้าวสู่การเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับมูลนิธิซีตี้ ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) จัดโครงการเสริมสร้างทักษะอาชีพแก่นักเรียนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (“Skilling up Youths for Community Development Program”) เพื่อวางรากฐานที่แข็งแกร่งอันเป็นหนึ่งในการสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ประเทศไทยและผู้แทนมูลนิธิซิตี้ (Citi Foundation) กล่าวว่า “มูลนิธิซิตี้เชื่อว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเรียนและนักศึกษาที่กำลังศึกษาในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะ คือกำลังสำคัญที่มีคุณภาพซึ่งจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมให้มีความมั่นคง รวมไปถึงมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่มูลนิธิซิตี้ได้ร่วมมือกับมูลนิธิ EDF สนับสนุนโครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” เพื่อพัฒนาศักยภาพทักษะนักเรียน-นักศึกษาอาชีวะในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ สู่การพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่ของตนเอง หลังประสบความสำเร็จกับโครงการ “Skilling Up Youth to Grow the EEC’s Growth Program” สำหรับนักเรียน-นักศึกษาอาชีวะในจังหวัดชลบุรีและระยองก่อนหน้านี้ ซึ่งมูลนิธิซิตี้มั่นใจว่า ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่นักเรียน-นักศึกษาระดับแกนนำจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้ง 15 แห่ง ตลอดจน 15 ชุมชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ จะสามารถแบ่งปันประสบการณ์จากการเข้าร่วมอบรมและการลงมือทำกิจกรรมที่ครอบคลุมทักษะอาชีพ ทักษะการเงิน และการพัฒนาธุรกิจร่วมกับชุมชนไปยังนักเรียน-นักศึกษาคนอื่น ๆ ตลอดจนถึงสมาชิกในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้าน นางพลอยภัสสร์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารมูลนิธิ EDF (มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา) ได้เปิดเผยว่า มูลนิธิ EDF มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลนิธิซิตี้เล็งเห็นความสำคัญของเยาวชน และร่วมกับมูลนิธิฯ ในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป โดยโครงการ “Skilling up Youths for Community Development Program” มุ่งหวังให้เยาวชนและสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องอีคอมเมิร์ช (E-commerce) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) การดีไซน์บรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) การวิเคราะห์ธุรกิจ (Business Analysis) การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ตลอดจนถึงการนำทักษะสายอาชีพจากการเรียนในชั้นเรียนไปปรับใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชน อีกทั้งยังเป็นโครงการนำร่องในสถาบันการศึกษาหรือชุมชนของตนเองเพื่อจัดทำโครงการเพื่อความยั่งยืนอื่น ๆ ในอนาคต

“งานแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ยังได้รับความร่วมมือจาก หรั่ง พระนคร (อัครินทร์ ปูรี) เจ้าของแบรนด์กีตาร์แฮนด์เมด ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นสำหรับเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 และยังมีกิจกรรมไฮไลท์กับการเปิดโอกาสให้สถาบันการศึกษาทั้งหมดที่เข้าร่วมได้พรีเซนต์กิจกรรมผลงานโดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงธุรกิจเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งปรากฏว่าวิทยาลัยวานิชบริหารธุรกิจจังหวัดนนทบุรีสามารถตอบโจทย์หลักเกณฑ์การตัดสินคว้ารางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอโครงการท่องเที่ยววิถีไทยตามสไตล์คนเมืองนนท์ ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาและชุมชนที่เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว ได้มีโอกาสนำผลงานของตนเองมาจัดแสดงในงานตลาดนัดแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ของเยาวชนและชุมชน และสร้างระบบนิเวศน์การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางพลอยภัสสร์ กล่าวสรุป

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ