วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ กสทช. สาธิตการทำงาน โครงการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ กสทช. สาธิตการทำงาน โครงการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดงานวันสาธิตการทำงาน โครงการ “การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ” (Demo Day) เมื่อวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมสายลม สำนักงาน กสทช. เพื่อสาธิตการทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ในระดับที่ 3 (Autonomous shuttle – Level 3) การสื่อสารข้อมูลระหว่างรถอัตโนมัติกับระบบต่างๆ ภายใต้โครงข่ายการสื่อสาร 5G C-V2X และการทดสอบประสิทธิภาพ (Connectivity) การวิเคราะข้อมูลด้วย AI (Use Cases) หรือการใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้โดยสารและผู้ขับขี่ โดยมีคุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน

คุณสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า “ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเซนเซอร์ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทและจุดประกายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย สำนักงาน กสทช. ได้จัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อสนับสนุนงบประมาณสำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการดำเนินงานวิจัยโมเดลนำร่อง “รถยนต์ไร้คนขับ” ส่งผลต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการคมนาคมและการส่งออกรถยนต์ในอนาคต หากประเทศไทยมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี ก็จะดึงศักยภาพให้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ใหญ่ของโลกให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น และต้องมีการร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานเข้ามาบูรณาการในการผลักดันแม่บทการคมนาคมโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร 5G ให้ครอบคลุมสูงสุดในทุกมิติ”

คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่ร่วมการสาธิตการทำงานโครงการ “การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ” ในครั้งนี้ นำโดย รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ผศ.ดร.วิทยากร อัศดรวิเศษ ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ จันทร์ภักดี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า รศ.ดร.กุลธิดา โรจน์วิบูลย์ชัย รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ รศ.ดร.อังคีร์ ศรีภคากร ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ร่วมบรรยายผลงานในโครงการตามส่วนพื้นที่การจัดแสดงการสาธิต โดยมี ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เข้าร่วมชมการสาธิต ในโอกาสนี้ด้วย

ในงานมีการสาธิตการทำงานในโครงการ”การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ”ผ่าน 4 ฐานกิจกรรม ดังนี้

ฐานที่ 1 ทดลองนั่งรถอัตโนมัติในระดับที่ 3 เพื่อทดสอบระบบตรวจสภาพแวดล้อมผ่านระบบเซนเซอร์ การระบุตำแหน่งตัวรถผ่านแผนที่ความละเอียดสูง การทดสอบระบบประมวลสภาพแวดล้อมรอบรถ ระบบการระบุตำแหน่ง ระบบวางแผนการวิ่ง และการตัดสินใจของตัวรถยนต์ (High Level Control System) และการทดสอบระบบการควบคุมการขับขี่ และการเคลื่อนที่ของรถ (Low Level Control System) ซึ่งเป็นการจำลองการใช้บริการขนส่งสาธารณะโดยรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ เพื่อให้เห็นวิธีการทำงานของรถอัตโนมัติ

ฐานที่ 2 เทคโนโลยีการสื่อสารระบบ 5G สามารถตอบสนองความต้องการในการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก ด้วยอัตราเร็วสูงโดยมีความหน่วงเวลาต่ำ รวมถึงเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็วและเสถียร โดยใช้อุปกรณ์ลูกข่ายจำนวนมาก เพื่ออธิบายถึงภาพรวมของการทดสอบระบบสื่อสารของรถบนโครงข่าย 5G ผ่านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ มีการรับส่งข้อมูลระหว่างระบบสิ่งต่างๆ รอบตัว เรียกว่า C-V2X (Cellular-Vehicle-to-Everything) โดยอาศัยโครงข่ายสื่อสารเป็นตัวกลางในการสื่อสารข้อมูลระหว่างรถไร้คนขับแต่ละคัน เพื่อสร้างการรับรู้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดนอกระยะสายตาของรถไร้คนขับคันอื่น เพื่อเฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการชน รวมทั้งแสดงผลการทดสอบในโครงการ และแนวทางการประยุกต์ใช้งานจริงในอนาคต

ฐานที่ 3 Operation Dashboard เป็นฐานแสดงข้อมูลของรถที่วิ่งแบบเรียลไทม์ โดยแสดงสถานะของรถ เช่น ตำแหน่ง ความเร็ว เปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่ โหมดการขับขี่ ภาพวิดิโอจากกล้องด้านหน้าและหลังของรถ และข้อมูลพอยท์คลาวด์จาก LiDAR เพื่อใช้ในการนำทาง การเตือนภัยผู้ขับขี่ ร่วมทั้งสร้างสุนทรียะให้กับผู้ขับขี่และผู้โดยสารผ่านระบบการควบคุม

ฐานที่ 4 Use Cases แสดงกรณีศึกษาต่าง ๆ ในรถขับขี่อัตโนมัติที่ใช้สถาปัตยกรรม Vehicular-Edge-Cloud Computing และประยุกต์ใช้ ML และ AI ในการประมวลผลข้อมูล อาทิ การตรวจจับอาการง่วงนอนของผู้ขับขี่โดยการจับสัญญาณลักษณะดวงตา (Driver Drowsiness Detection) ระบบนับจำนวนผู้โดยสารที่ผ่านเข้าออกอัตโนมัติ (Passenger Counting System) การแจ้งเตือนอุบัติเหตุ (Accident Notification) การทำ VDO Streaming จากกล้องทั้งหมด 12 ตัวภายในรถทั้ง 3 คันแบบเรียลไทม์ เว็บ แอปพลิเคชันการจัดการ และแดชบอร์ดสำหรับสังเกตการณ์แบบเรียลไทม์

รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า “การพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เป็นเรื่องที่ใหม่มาก ในประเทศไทยและต้องใช้ระยะเวลาวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มที่ต้องประยุกค์ใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งมีการแบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วนคือ ตัวรถยนต์อัตโนมัติให้ได้เป็นระดับที่ 3 และการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารระบบ 5G เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการขนส่งที่ในไทยยังมีการใช้งานในด้านนี้ไม่มากนัก โดยจะมีการนำกรณีศึกษาในการใช้งานต่างๆ ต่อยอดออกไปสู่การใช้งานจริงในหลากหลายรูปแบบการคมนาคมต่อไป”

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ